สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือขานพระนามกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ประสูติ พ.ศ. ๒๒๔๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับกรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหสีใหญ่ ทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศ(พระเจ้าเอกทัศน์) และ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (พระอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) จุลศักราช ๑๑๐๓ ปีระกา ตรีศก พ.ศ. ๒๒๘๔ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้เข้าพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสถิต ที่พระมหาอุปราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี เมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและ พระองค์ได้เป็นกองการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ มากมาย
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่า โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ
งานนิพนธ์ที่เหลือจนบัดนี้มีที่รวบรวมได้ดังนี้
๑. กาพย์เห่เรือ
๒. บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน
๓. บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท
๔. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
๕. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง
๖. นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช
๗. พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช
๘. เพลงยาวบางบท
กวีผู้เป็นเพชรน้ำเอกแห่งวรรณคดีไทยผู้นี้ น่าจะมีคำเติมตอนท้ายว่า "เจ้าฟ้าผู้มีชะตาจากสูงสุดลงต่ำสุด" พระประวัติของพระองค์ท่านเต็มไปด้วยสีสันเข้มข้น เริ่มต้นอย่างงดงามแต่จบลงอย่างน่าเศร้ายิ่งกว่าโศกนาฎกรรมเรื่องใดๆ
ถ้าพูดแบบความเชื่อไทยๆก็ต้องพูดว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" ต้องทำบุญเก่ามาประเสริฐ จึงได้ประสูติในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมโกศ กับกรมหลวงอภัยนุชิตพระมเหสีเอกในจำนวน ๓ พระองค์ของพระราชบิดา ด้วยศักดิ์ที่สูงกว่าพระอนุชาทุกพระองค์นี้เอง จึงทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งวังหน้ามหาอุปราช เฉลิมพระนามว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์ สิ้นพระเจ้าบรมโกศเมื่อใด แผ่นดินก็ต้องตกเป็นของพระมหาอุปราชตามโบราณราชประเพณี
เท่านี้ยังไม่พอ สวรรค์ยังเอื้อเฟื้อประทานพรสวรรค์มาให้อีก ให้นิพนธ์การกวีได้ยอดเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนทั้งแผ่นดิน พระนิพนธ์ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ได้ชื่อว่าเป็นชิ้นเอกในประเภทเดียวกัน ดังที่กล่าวมาแล้ว งานเหล่านี้ไพเราะขนาดไหน ลองวาดภาพขบวนเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนค่ำเมื่อพระอาทิตย์ลับไป พระจันทร์เต็มดวงลอยใสสว่างพ้นขอบฟ้าขึ้นมา และมีเสียงเห่ต่อไปนี้กังวานไปตามลำน้ำ เห็นสักครั้ง แล้วจะพบว่าสุดแสนจะซาบซึ้งจริงๆ
เรื่อยเรื่อยมารอนรอน สุริยจรเข้าสายัณห์
เรื่อรองส่องสีจันทร์ ส่งแสงกล้าน่าพิศวง
ลิ่วลิ่วจันทร์แจ่มฟ้า เหมือนพักตราหน้านวลผจง
สูงสวยรวยรูปทรง ส่งศรีเจ้าเท่าสีจันทร์
ถ้ายังไม่หวานพอ ลองฟังบทรำพึงถึงนางยามอยู่ห่างไกลกัน ทรงสร้างบรรยากาศฝนตกลมพัดเย็นในขุนเขา แต่หัวอกคนรักยามจากคู่ก็ยังร้อนรุมอยู่ดี นอกจากนี้ มีคำไพเราะอยู่คำหนึ่งที่ไม่ซ้ำแบบกับกวีคนใด คือเรียกนางว่า "แก้วกับอก" ให้ภาพความรักและทะนุถนอมสิ่งมีค่าที่เปราะบาง เหมือนกอดดวงแก้วเอาไว้แนบอก ส่วน "แก้วโกมล" หมายถึง แก้วใจ ค่ะ
ฝนตกฝนหากตก แก้วกับอกอย่างโกรธฝน
ลมพัดรับขวัญบน แก้วโกมลมานอนเนา
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เย็นแหล่งหล้าในภูเขา
ไม่เย็นในอกเรา เพราะคู่เคล้าเจ้าอยู่ไกล
อ่านจากพระนิพนธ์ รู้สึกว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นศิลปินผู้มีอารมณ์รักอ่อนหวานและอ่อนไหว บทรักของท่านกับนางในจึงฟังน่ารักเหมือนหนุ่มสาววัยรุ่น เมื่อนางร้อยดอกลำดวนถวาย ตามแบบผู้หญิงสมัยนั้นเขานิยมเอาดอกลำดวนมาร้อยเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือเล่นกันน่ารักน่าเอ็นดู เจ้าฟ้ากวีของเราก็ทรงคล้องสร้อยดอกลำดวนให้นางด้วยองค์เอง เหมือนหนุ่มสาวคู่รักแสดงต่อกัน ไม่ใช่เจ้านายต่อนางบริวาร
ลำดวนเจ้าเคยร้อย กรองเป็นสร้อยลำดวนถวาย
เรียมชมดมสบาย พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง
ลำดวนปลิดกิ่งก้าน สนสาย
กรองสร้อยลำดวนถวาย ค่ำเช้า
ชูชมดมกลิ่นสบาย ใจพี่
เอาสร้อยห้อยคอเจ้า แนบหน้าชมโฉม
ถ้าหากว่าเจ้าฟ้ากวีทรงจำกัดความรักไว้แค่เจ้าจอมหม่อมห้าม เรื่องเศร้าก็คงไม่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ว่าทรงทำบุญมามากแค่ไหนก็น่าจะเคยทรงกรรมหนักมากเท่านั้น เพราะท่านเกิดไปรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว เจ้าฟ้าสังวาลนี้เป็นเจ้าเชื้อสายในเจ้านายอีกองค์หนึ่งของอยุธยา ต่อมาก็ถูกส่งขึ้นถวายพระเจ้าบรมโกศ ทรงแต่งตั้งเป็นพระมเหสีองค์ที่สาม มีพระโอรสธิดาด้วยกันถึง ๔ องค์ เชื่อกันว่าด้วยความรักที่ยังตัดกันไม่ขาดก็ทรงลักลอบติดต่อกับเจ้าฟ้า สังวาล เรื่องนี้สะท้อนภาพอยู่ในกาพย์เห่เรือกากี นิพนธ์ไว้เฉพาะตอนที่พญาครุฑผู้เป็นชายชู้ลักพานางกากี ชายาท้าวพรหมทัตไปสมสู่กันบนวิมานฉิมพลี
กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง
ในเรื่องนี้ มีกาพย์บรรยายบทสังวาสเอาไว้ เป็นวรรณศิลป์ที่งดงามจับใจ เล่นเสียง "ส" และคำว่า "สอง" อย่างวิจิตร ขอยกมาตอนหนึ่งนะครับ
สองสุขสองสังวาส แสนสุดสวาทสองสู่สม
สองสนิทนิทรารมณ์ กลมเกลียวชู้สู่สมสอง
แย้มยิ้มพริ้มพักตรา สาภิรมสมจิตปอง
แสนสนุกสุขสมพอง ในห้องแก้วแพรวพรรณราย
เจ้าฟ้ากวีทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ เรียกรวมกันว่าเจ้าสามกรม ไม่ทรงถูกกันเลย ถึงกับครั้งหนึ่งมีเรื่องกริ้วเจ้าสามกรมว่าทำตัวสูงเกินศักดิ์ ก็ทรงเรียกตัวข้าราชบริพารของเจ้าสามกรมมาโบยหลัง ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เป็นการประชดไปถึงเจ้านาย เจ้าสามกรมก็คงจะแค้นพระทัย จึงตอบแทนสาสมด้วยการนำความไปทูลฟ้องพระเจ้าบรมโกศว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเล่นชู้กับพระมเหสีของพระราชบิดา
เมื่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เกิดสอบสวนกันเป็นการใหญ่ ทั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์และเจ้าฟ้าสังวาลถูกสอบสวนจนทรงยอมรับผิดตามข้อหา จึงถูกลงโทษอย่างหนัก
ตามกฎมณเฑียรบาล การละเมิดสตรีในวังมีโทษถึงประหารชีวิต ถ้าหากว่าเจ้าฟ้ากวีทรงถูกประหารตามกฎเสียให้รู้แล้วรู้รอดก็คงจะน่าเศร้า สลดใจน้อยกว่านี้ แต่พระราชบิดาทรงลดหย่อนผ่อนโทษให้ไม่ให้ถูกประหาร น่าสะเทือนใจตรงที่ผลกลับกลายเป็นว่า การลดโทษกลับเลวร้ายสาหัสกว่าถูกประหารเสียอีก
พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า เริ่มต้นด้วยถูกถอดลงเป็นไพร่ แล้วถูกทรงเฆี่ยนด้วยหวายได้ ๒๐ ที ทรงเจ็บปวดมากจนสลบไป พระเจ้าบรมโกศก็ทรงให้หยุดเฆี่ยน แก้ไขจนฟื้นขึ้นมาในวันต่อไปก็เฆี่ยนต่ออีก ๖๐ ที เอาเหล็กเผาไฟนาบพระนลาฎ (หน้าผาก) และพระบาทเป็นการลงโทษ แล้วให้เฆี่ยนต่อไปจนครบ ๒๓๐ ที ตามโทษที่ถูกลดหย่อนจากประหารชีวิต แต่เฆี่ยนไปได้ ๑๘๐ ที ทรงทนความเจ็บปวดบอบช้ำไม่ไหวก็สิ้นพระชนม์คาหลักเฆี่ยน ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลถูกเฆี่ยนสามสิบที แล้วนำไปจองจำ อยู่ได้สามวันก็สิ้นพระชนม์ตามไปอีกองค์หนึ่ง
ถ้าจะถามว่าเหตุใดพระราชบิดาทรงทำได้ถึงขนาดนี้ มองอย่างตรงไปตรงมาก็คือทรงเคร่งครัดต่อกฎมณเฑียรบาล เล่ากันว่าก่อนพระมเหสีจะสิ้นพระชนม์ได้ทูลขอไว้ว่าถ้าพระราชโอรสทำผิด ให้ลดหย่อนโทษลงจากประหารเป็นเฆี่ยน จากเฆี่ยนเป็นเนรเทศ เมื่อปรากฏว่าทรงทำผิดจริงๆ ก็โปรดฯให้เป็นไปตามที่ทูลขอไว้
แต่ถ้าให้เดาเป็นส่วนตัว ขอเดาว่าพระเจ้าบรมโกศคงจะไม่พอพระทัย พระราชโอรสองค์ใหญ่มานานแล้ว เพราะเจ้าฟ้ากวีของเรานอกจากไม่ถูกกับพระอนุชาทั้งสาม ก็ยังไม่พอพระทัยพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ ผู้เป็นพระเจ้าหลานยาเธอองค์ที่พระเจ้าบรมโกศทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง ทรงระแวงว่าเจ้าฟ้านเรนทร์จะเป็นศัตรูราชสมบัติ ทั้งที่เจ้าฟ้านเรนทร์ผนวชมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยมีท่าทีว่าจะมากีดขวางใคร วันหนึ่งทรงซุ่มดักรอที ตอนฝ่ายนั้นมาเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมโกศ ทรงไล่ฟันจะให้ถึงตาย แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ทรงโชคดีหรือมีวิชาดีหนังเหนียวก็ไม่แน่ ทรงรอดดาบไปได้โดนแค่จีวรขาด เรื่องรู้ไปถึงพระเจ้าบรมโกศ ถึงกับพิโรธหนักจนพระมเหสีต้องรีบพาพระราชโอรสไปผนวชให้พ้นราชภัย รอดไปได้อย่างฉิวเฉียดมาครั้งหนึ่ง พอสิ้นพระราชมารดาก็ไม่มีใครปกป้องพระองค์อีก
ถ้าหากว่าไม่เกิดเรื่องนี้เสียก่อน ทรงอยู่มาได้อีก ๓ ปีก็จะได้ครองราชย์ น่าจะเป็นยุคเฟื่องฟูของวรรณคดีไทยอีกยุคหนึ่ง
พระศพของเจ้าฟ้ากวีมิได้รับการถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี แต่ถูกฝังเอาไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม ในเจดีย์สร้างอย่างหยาบๆคู่กับเจ้าฟ้าสังวาล วัดนี้เป็นวัดใหญ่อยู่ที่บางปะอินริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากพระวิญญาณยังอยู่ที่นั่น ก็คงจะได้ทอดพระเนตรลำน้ำที่เคยใช้ล่องเรือ เห่บทพระนิพนธ์เมื่อสองร้อยปีก่อนและยังเป็นที่ขับขานจดจำรำลึกกันมาจนถึง วันนี้
มีบทเห่บทหนึ่ง แสนเศร้า เหมือนจะเป็นการสะท้อนชะตากรรมของเจ้าฟ้ากวี โดยที่พระองค์ท่านคงไม่ทรงรู้องค์ว่าจะทรงเป็นไปอย่างพระนิพนธ์บทนี้ทุก ประการ
แต่เช้าเท่าถึงเย็น กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดิน ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
ที่มา : http://variety.teenee.com/
0 Comment to "เรื่องเก่าเล่าสนุก(เจ้าฟ้ากุ้งตำนานรักแห่งอยุธยา)"
Post a Comment